การปกครองส่วนท้องถิ่นในสมัยรัชกาลที่ ๕
เขียนโดย Edugen official
13/10/2021, หมวด: Lifestyle

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและฝรั่งเศส ประเทศเพื่อนบ้านของไทยต่างตกเป็นอาณานิคมของประเทศเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก ส่วนประเทศไทยถือเป็นประเทศเดียวที่มิได้เป็นอาณานิคมของชาติใด ประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ จึงแข่งขันกันเพื่อเข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศไทย

สิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำคือ การปฏิรูปการปกครอง การปรับปรุงการปกครองให้ทันสมัย เพื่อทำให้ชาวต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เจริญแล้ว และสามารถปกครองดูแลพัฒนาบ้านเมืองได้

การปฏิรูปการปกครองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ก่อให้เกิดการจัดระเบียบการปกครองที่สำคัญ คือ การปกครองส่วนท้องถิ่น พระองค์ทรงจัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล ซึ่งมีหน้าที่คล้ายเทศบาลในปัจจุบัน เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. ๒๔๔๐) ขึ้นบังคับใช้ในกรุงเทพฯ และขยายไปที่ท่าฉลอม ใน ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ปรากฏว่าการดำเนินงานนั้นได้ผลดีเป็นอย่างมาก 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาล ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ขึ้น โดยแบ่งสุขาภิบาลออกเป็น2ประเภท คือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล ท้องถิ่นใดเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลประเภทใด ก็ให้ประกาศตั้งสุขาภิบาลในท้องถิ่นนั้น

ให้คะแนนบทความนี้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ