“โอ้ย ๆ ท่องคำศัพท์เท่าไหร่ก็จำไม่ได้สักที”
“หนูจำความหมายได้นะ แต่หนูไม่รู้ว่ามันใช้ยังไง”
“หนูท่องแล้วท่องอีก แต่สุดท้ายก็ลืมอยู่ดี”
ไหน ๆ ใครกำลังมีปัญหากับการท่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษบ้าง จะท่องคำศัพท์บ่อยแค่ไหน ก็จำไม่ได้สักที แถมยังเอาไปใช้ไม่ได้อีก มา ๆ วันนี้พี่ EDUGEN มี "ทริคเด็ดเคล็ด(ไม่)ลับในการท่องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษยังไงให้จำแม่น" และสามารถนำไปใช้ได้จริงมาให้น้อง ๆ ได้ลองไปทำตามกัน อย่ามัวรอช้าตามพี่ EDUGEN ไปดูกันเลยดีกว่า
1. ท่องคำศัพท์ให้เป็นหมวดหมู่ วิธีการท่องคำศัพท์ที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันเช่น อาหาร เครื่องครัว อาชีพ ฯลฯ จะช่วยให้น้อง ๆ ไม่สับสนกับความหมายของคำ ง่ายต่อการจดจำและสามารถคาดเดาความหมายของคำศัพท์ได้ง่ายกว่าการท่องคำศัพท์แบบกระจัดกระจาย
2. Part of Speech ก็สำคัญ การจำ Part of Speech ของคำศัพท์นั้น จะทำให้น้อง ๆ รู้จักและเข้าใจถึงหน้าที่ของคำศัพท์คำนั้น เมื่อน้อง ๆ จะใช้คำศัพท์ที่น้อง ๆ ท่องมา น้อง ๆ จะสามารถใช้คำศัพท์นั้นได้อย่างถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
3. พยายามใช้ Dictionary ภาษาอังกฤษ การจดจำควาหมายเป็นภาษาไทยไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่อาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าในการจดจำความหมายของคำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษ เพราะคำแปลในภาษาไทยอาจจะไม่ตอบโจทย์หรือตรงกับบริบทที่ถูกต้องของคำ ๆ นั้นในประโยค การท่องความหมายของคำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษจะทำให้น้อง ๆ เข้าใจและเห็นภาพของความหมายของคำศัพท์นั้นได้มากกว่า และถือว่าเป็นการฝึกฝนไปในตัว เมื่อน้อง ๆ ไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้วไปเจอคำศัพท์ที่ยากขึ้น การแปลเป็นภาษาไทยอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ความสามารถในการหาความหมายเป็นภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่น้อง ๆ ควรมีติดตัวและคุ้นชินกับมัน
4. เรียนรู้จากสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Youtube Facebook Twitter Instagram ฯลฯ ล้วนเป็นช่องทางที่จะทำให้น้อง ๆ เรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษได้ทั้งนั้น น้อง ๆ สามารถติดตามแชแนลของฝรั่งที่น้อง ๆ ชื่นชอบ แล้วสังเกตุการใช้ภาษาของเขา เขาใช้คำศัพท์คำนี้ตอนไหน ? เขาใช้เพื่อสื่อความหมายอะไร ? ถ้าน้อง ๆ ไม่เข้าใจก็จดไว้แล้วนำไปหาความหมาย วิธีนี้นอกจากจะไม่น่าเบื่อแล้ว น้อง ๆ จะได้เห็นการใช้ภาษาจริง ๆ จากเจ้าของภาษาอีกด้วย ซึ่งจะมีความแตกต่างจากหนังสือเรียนที่น้อง ๆ เคยเรียนกันแน่นอน
5. ฝึกแต่งประโยคสั้น ๆ เมื่อเราจดจำความหมายและหน้าที่ของคำศัพท์สักคำได้แล้ว น้อง ๆ ควรนำคำ ๆ นั้นมาแต่งประโยคสั้น ๆ เพื่อเป็นการลองใช้คำศัพท์นั้นในประโยคจริง ๆ นอกจากจะเป็นการทบทวนว่าน้อง ๆ เข้าใจคำศัพท์นั้นจริง ๆ แล้วยังฝึกความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งประโยคไปในตัวด้วย โดยน้อง ๆ อาจจะเพิ่มความยากขึ้นไปเรื่อย ๆ จาก 1 คำ ต่อ 1 ประโยค มาเป็น 5 คำ ใน 1 Paragraph สั้น ๆ อาจจะแต่งเป็นเรื่องสั้นโดยนำคำศัพท์ที่น้องท่องในวันนั้นมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวก็ได้
6. ลองใช้คำศัพท์ในสถานการณ์จริง คงไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการได้ใช้ภาษาในสถานการณ์จริง เมื่อน้อง ๆ จดจำคำศัพท์มามากมายแล้ว การได้นำคำศัพท์เหล่านั้นมาใช้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสื่อสาร การทำการบ้าน การทำงาน หรือเป็นการฝึกฝนเหมือนกับการแต่งประโยคสั้น ๆ นั้น จะทำให้เราจดจำคำศัพท์นั้นได้แม่นยำมากขึ้น เมื่อใช้คำศัพท์บ่อย ๆ ก็จะจำได้จนขึ้นใจโดยอัตโนมัติ หากนำไปใช้แล้วเกิดความไม่เข้าใจก็จะเป็นการบ่งบอกว่าเรายังเข้าใจคำศัพท์คำนั้นผิดอยู่ เป็นเหมือนกับโอกาสที่จะทดสอบว่าน้อง ๆ เข้าใจจริง ๆ แล้วหรือยัง ถ้ายังก็กลับไปทบทวนอีกครั้งจนกว่าเราจะใช้ได้อย่างถูกต้อง
การเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งนั้นจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ไม่มีทางที่จะเก่งขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายใน 7 วัน 14 วัน น้อง ๆ จะต้องมีแรงผลักดัน มีเป้าหมายที่คอยขับเคลื่อนเราให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ต่อให้น้อง ๆ พยายามมากแค่ไหนแต่ขาดแรงผลักดันในการเรียนภาษาแล้ว สุดท้ายน้อง ๆ ก็จะหมดไฟ หยุดเรียนรู้และไม่สามารถพัฒนาภาษานั้นให้สูงขึ้นได้อีก