
กระบวนการเกิดฝนเทียม
พี่ EDUGEN เชื่อว่าน้อง ๆ ทุกคน ต้องเคยได้ยิน หรือรู้จักกับฝนเทียมกันอยู่แล้ว แต่รู้ไหมว่ากว่าจะกลายมาเป็นสายฝนโปรยปรายดับร้อน ดับฝุ่นให้เราได้นั้น มันต้องผ่านกระบวนการทำงานของฝนเทียมอย่างไรบ้าง? วันนี้ตามพี่ EDUGEN ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
ฝนเทียมคืออะไร?
ฝนเทียม หรือ ฝนหลวง เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า โดยใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยบนท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็นและมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม
ขั้นตอนการทำฝนเทียม
ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวนให้เกิดเมฆ โดยในอากาศต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 60% จากนั้นโปรยโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงที่ระดับความสูง 7,000 ฟุต เพื่อให้เป็นแกนกลั่นตัว ความชื้นหรือไอน้ำจะเข้าไปเกาะรอบแกนเกลือ และก่อเป็นเมฆก้อนใหญ่ที่อาจสูงถึง 10,000 ฟุต
ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงเมฆให้อ้วน เป็นการเพิ่มไอน้ำให้กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากขึ้น โดยใช้แคลเซียมคลอไรด์ เพื่อเพิ่มความร้อน และเร่งการกลั่นตัวของไอน้ำ จนกลายเป็นเมฆก้อนใหญ่ ซึ่งเมฆจะก่อยอดได้ 2 แบบ คือ
เมฆอุ่น : เมฆที่ไม่สามารถก่อยอดสูงเกินระดับอุณหภูมิจุดเยือกแข็ง หรือประมาณ 18,000 ฟุต
เมฆเย็น : เมฆที่สามารถก่อยอดขึ้นไปสูงกว่าระดับอุณหภูมิจุดเยือกแข็ง ถึงระดับ 20,000 ฟุต
ขั้นตอนที่ 3 โจมตี มี 3 รูปแบบ คือ แบบ Sandwich แบบเมฆเย็น และ แบบ Super Sandwich
แบบ Sandwich เป็นเทคนิคปฏิบัติการที่ความสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต (เมฆอุ่น) โดยใช้ผงโซเดียมคลอไรด์โปรยทับยอดเมฆด้านเหนือลม และใช้เครื่องบินอีกเครื่องเติมยูเรีย และน้ำแข็งแห้งที่ฐานเมฆ จากนั้นจึงเติมน้ำแข็งแห้งที่ใต้ฐานเมฆ เพื่อช่วยลดความร้อนทำให้ฝนไม่ระเหย
แบบเมฆเย็น เป็นกรณีที่ยอดเมฆสูงมาจนถึงระดับเมฆเย็นหรือประมาณ 20,000 ฟุต โดยใช้สารซิลเวอร์ไอโอไดด์ยิงจากเครื่องบินที่ระดับความสูงประมาณ 21,500 ฟุต ทำให้ไอน้ำระเหยมาเกาะแกนซิลเวอร์ไอโอไดด์ กลายเป็นผลึกน้ำแข็ง เมื่อผลึกน้ำแข็งร่วงลงมาเจอกับเมฆอุ่นก็จะกลายเป็นเม็ดฝน
แบบ Super Sandwich เป็นการใช้วิธีการแบบ Sandwich และแบบเมฆเย็นควบคู่กันในเวลาเดียวกัน จะทำให้ฝนตกหนักและต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ปริมาณน้ำฝนสูงยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : เปิดตำรา…ฝนหลวง และขั้นตอนปฏิบัติการทำฝนหลวง