เฮ้อออออ !!! เป็นเด็ก ม.6 นี่ช่างมีเรื่องให้ทำเยอะแยะจริง ๆ เลย ไหนจะต้องค้นหาตัวเอง ไหนจะเตรียมตัวสอบ ยังต้องมาทำความเข้าใจศัพท์เทคนิคอย่าง GPA, GPAX และ PR อีก
ถ้าอยากรู้ว่าค่าเหล่านี้คืออะไร ใช้วัดความสามารถของเราในด้านไหนบ้าง และเราจะคำนวณหามาได้จากไหน ตามพี่ EDUGEN ไปหาคำตอบกันดีกว่า
ผลการเรียนเฉลี่ย หรือเกรดเฉลี่ย (GPA)
GPA ย่อมาจาก Grade Point Average หรือที่เราเรียกว่า "ผลการเรียนเฉลี่ย" คือผลการเรียนของแต่ละรายวิชานั่นเอง เช่น GPA กลุ่มสาระวิชาภาษาไทย, GPA กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่ง GPA ในแต่ละรายวิชานี้ก็จะนำมาคำนวณรวมกันเป็นเกรดเฉลี่ยในแต่ละเทอมนั่นเอง เช่น ผลการเรียน ม.6 เทอม 1 ได้ GPA 3.25 และ ม.6 เทอม 2 ได้ GPA 3.30 เป็นต้น
วิธีคิดผลการเรียนเฉลี่ย (GPA)
1. ให้นำเกรดที่ได้ของแต่ละวิชา x กับหน่วยกิตของวิชานั้น ๆ
2. นำผลคูณที่ได้จากข้อ 1 มาบวกกันให้หมด
3. นำผลรวมจากข้อ 2 มาเป็นตัวตั้ง หารด้วยผลรวมของหน่วยกิตทั้งหมด
สรุป !!! แบบง่าย ๆ GPA คือตัวเลขที่บ่งบอกถึงความสามารถในการเรียนในรายวิชาที่ถูกกำหนดไว้ว่าอยู่ในระดับไหน เช่น อ่อน ปานกลาง หรือเก่ง นอกจากนี้ GPA ยังสามารถวัดความถนัดของเด็กแต่ละคนได้ในเบื้องต้นด้วย
ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม หรือเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX)
GPAX หรือผลการเรียนเฉลี่ยสะสม คือการเอาผลการเรียนทุกเทอม ทุกวิชา มารวมกันและทำการหาค่าเฉลี่ยนั่นเอง เช่น กำหนดให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) 5 เทอม ไม่ต่ำกว่า 3.00 นั่นหมายถึงการเอาผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ ม.4 เทอม 1 ถึง ม.6 เทอม 1 มารวมกันเพื่อหาค่าเฉลี่ย แล้วต้องได้ตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไปถึงจะผ่านเงื่อนไข หรือในกรณีที่กำหนดมาว่าใช้ GPAX ตลอดหลักสูตรก็หมายความว่าต้องใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมทั้ง 6 เทอมนั่นเอง
พี่ EDUGEN อยากให้น้อง ๆ ตีความคำว่า เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า หรือเกรดเฉลี่ยสูงกว่าให้ถูกด้วยนะคะเช่น กำหนดว่าต้องมี “เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า” 3.00 หมายความถ้าเกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.00 พอดีเป๊ะก็สามารถสมัครได้ค่ะ แต่พอเปลี่ยนคำเป็น “เกรดเฉลี่ยต้องสูงกว่า” 3.00 น้อง ๆ จะหมดสิทธิ์ทันที เพราะฉะนั้นดูให้ดี ๆ นะคะ
วิธีการคิดผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX)
1. ต้องการคิด GPAX รวมกี่เทอม ให้เอาเกรดและหน่วยกิตของเทอมที่ใช้มาทั้งหมด
2. นำเกรดที่ได้ในแต่ละวิชา x หน่วยกิตของวิชานั้น ๆ ทำให้ครบทุกวิชา
3. บวกผลรวมจากข้อ 2 ทั้งหมด
4. นำผลรวมจากข้อ 3 หารด้วยผลรวมของหน่วยกิตทั้งหมด
ถ้าน้อง ๆ เจอรับตรงที่ใช้ GPAX 5 เทอม หรือ 6 เทอม ก็ต้องไล่ทำแบบนี้ให้ครบทุกวิชา ทุกเทอมนะคะถึงจะได้เกรดเฉลี่ยที่ถูกต้องค่ะ
ข้อควรจำ !!! การคิด GPAX แบบเอาผลการเรียนเฉลี่ยทุกเทอมมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนเทอม เป็นวิธีที่ผิดนะคะ อาจทำให้ผลการเรียนเฉลี่ยนสะสมของเราคลาดเคลื่อนได้ค่ะ
เปอร์เซ็นไทล์ (PR)
คำว่า "เปอร์เซ็นไทล์ (Percentile)" มักปรากฏอยู่ในระเบียบการรับตรงของมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการรับสมัครให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน ซึ่งค่าตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ก็คือการวัดค่าตำแหน่งของข้อมูล เมื่อเทียบจากร้อยจะมีผู้ที่ได้คะแนนน้อยกว่า มากกว่า หรือเท่ากับตำแหน่งนี้เท่าไหร่ ค่าเปอร์เซ็นไทล์จะเรียงลำดับคะแนนจากน้อยไปหามาก โดยใช้การเทียบเกรดเฉลี่ยสะสมของนักเรียนทั้งระดับชั้น คล้ายกับเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลนั่นเอง
ยกตัวอย่าง !!! นักเรียนในระดับชั้น ม.6 ของโรงเรียนเอ็ดดูเจนวิทยา มีจำนวนทั้งสิ้น 100 คน คนที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสมน้อยที่สุดจะถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ 1 เรียงลำดับไปจนถึงคนที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสมสูงสุด ถือได้ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ 100 หรือยึดครองอันดับที่ 1 ของระดับชั้นปี ทั้งนี่บางโครงการน้อง ๆ จะเห็นว่า มีการระบุคุณสมบัติผู้สมัครไว้ว่าต้องเป็นผู้ที่มีผลการเรียนใน 10 อันดับแรกของแผนการเรียนก็ได้
ด้วยสูตรการหาค่าตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์นั้นค่อนข้างลึกลับซับซ้อน ต้องใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมของนักเรียนทั้งระดับชั้นปีโดยไม่แยกแผนการเรียน ฉะนั้นหากน้อง ๆ มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับการสมัครรับตรง แนะนำว่าสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายทะเบียนหรือฝ่ายวิชาการเพื่อขอรับใบแสดงค่าตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์มาเป็นหลักฐานเพื่อรับรองผลการสมัครได้เลย
หายสงสัยกันแล้วใช่ไหมล่ะ? ว่าแล้วก็ลองกลับไปเปิด Transcript แล้วคิดเกรดของตัวเองดูคร่าว ๆ ก่อนก็ได้นะ จะได้รู้ว่าตอนนี้เกรดเป็นเท่าไหร่กันบ้างแล้ว