
การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็น “เรื่องใหญ่” ของเด็ก ๆ ในทุก "Generation" วันนี้ตามพี่ EDUGEN ไปทำความรู้จักกับทุกสนามสอบในระบบ TCAS เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้ากันดีกว่า
สนามสอบ O-NET
O-NET (Ordinary National Education Test) คือการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานที่ถูกจัดสอบขึ้นโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. ซึ่งเป็นการจัดสอบสำหรับนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 เพื่อวัดคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษาของนักเรียนและโรงเรียน มีการสอบทั้งหมด 5 วิชา
คะแนนสอบ O-NET สำคัญมากสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะเป็นคะแนนที่บอกถึงความรู้ทางวิชาการขั้นพื้นฐาน และมหาวิทยาลัยจะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเข้าเรียนต่อ
สนามสอบ GAT / PAT
GAT ย่อมาจาก General Aptitude Test เป็นการสอบเพื่อวัดศักยภาพในการเรียนในมหาวิทยาลัยให้ประสบความสำเร็จ โดยจะทำการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ข้อสอบวัดความสามารถในการอ่าน/การเขียน/การคิดเชิงวิเคราะห์/และการแก้โจทย์ปัญหา หรือที่หลายคนเรียกว่า GAT เชื่อมโยงนั่นเอง
ส่วนที่ 2 ข้อสอบภาษาอังกฤษ เพื่อวัดความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในข้อสอบจะประกอบไปด้วย Speaking and Conversation, Vocabulary, Structure and Writing และ Reading Comprehension
PAT ย่อมาจาก Professional and Academic Aptitude Test เป็นการทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ ( โดยเนื้อหาในการสอบจะเป็นการวัดความรู้พื้นฐาน และศักยภาพที่จะเรียนในแต่ละวิชาชีพเพื่อทดสอบว่าผู้สอบมีศักยภาพที่เหมาะสมกับสายวิชาชีพหรือไม่ การสอบ PAT แบ่งออกเป็น 7 สาขาวิชาตามกลุ่มวิชาชีพ
ในส่วนของ PAT 7 คือ ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย
PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส
PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน
PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น
PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน
PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ
PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี
PAT 7.7 ความถนัดทางภาษาเกาหลี
สนามสอบ 9 วิชาสามัญ
9 วิชาสามัญ เป็นข้อสอบกลางที่จัดสอบโดย สทศ. เพื่อใช้ในการรับตรงเข้ามหาวิทยาลัย น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องสอบทั้งหมด 9 วิชา แต่จะสอบวิชาใดบ้างก็ขึ้นอยู่กับระเบียบที่แต่ละคณะและมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ ต้องการจะเข้าศึกษาต่อ
สนามสอบ ความถนัดแพทย์ (กสพท)
ข้อสอบความถนัดแพทย์ (กสพท) เป็นการสอบวิชาเฉพาะสำหรับคนที่สนใจอยากเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์ โดยข้อสอบจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
ส่วนที่ 1 ข้อสอบความถนัดแพทย์ด้าน “เชาว์ปัญญา” เป็น Part ที่รวมทุกอย่างทั้งคณิตศาสตร์ อนุกรมเลข อนุกรมภาพ การอ่านจับใจความ เป็นข้อสอบที่ใช้วัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ การจับใจความ สรุปความ โดยจะมาในรูปแบบของอนุกรม มิติสัมพันธ์
ส่วนที่ 2 ข้อสอบความถนัดแพทย์ด้าน “จริยธรรมทางการแพทย์” เป็นข้อสอบวัดทัศนคติของเราว่าเหมาะที่จะเป็นแพทย์ที่ดีหรือไม่ เป็นการสมมติสถานการณ์เพื่อวัดตรรกะความคิด จรรยาบรรณแพทย์ การปกป้องสิทธิ์ของแพทย์ สิทธิ์ของผู้ป่วย ข้อสอบส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่มีสอนในห้องเรียน
ส่วนที่ 3 ข้อสอบความถนัดแพทย์ด้าน “ทักษะการเชื่อมโยง” เป็นข้อสอบที่มีรูปแบบคล้ายกับ GAT เชื่อมโยง ที่จะมีบทความยาว ๆ ให้เราแบ่งประเด็นเอง แล้วก็จับมาเชื่อมโยงกัน