How to PDCA 4 ขั้นตอนกำจัดความขี้เกียจ
เขียนโดย Edugen official
08/11/2019, หมวด: แรงบันดาลใจ

หลายครั้งที่เราตั้งเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองหรืออยากพัฒนาตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องล้มเหลวและไม่สำเร็จตามเป้าหมายสักครั้ง เช่น ตั้งเป้าหมายไว้ว่าวันเสาร์-อาทิตย์ จะอ่านหนังสือทบทวนบทเรียน แต่พอถึงเวลากลับหาเหตุผลมาอ้างเพื่อหักล้างให้ไม่ต้องทำตามเป้าหมายนั้น เช่น “ขอนอนก่อนเดี๋ยวตื่นมาอ่าน” หรือ “อ่านวันอื่นก็ได้ ไม่เห็นจะยากเลย” ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นจุดหล่อหลอมทำให้เกิดความขี้เกียจขึ้น และทำให้เราไปไม่ถึงความสำเร็จนั้นสักที

บางครั้งสาเหตุที่ทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น นอกจากความขี้เกียจก็อาจเป็นเพราะเราขาดความจริงจังและขาดการวางแผนที่ดี เพราะความขี้เกียจนั้นถูกสะสมมานาน การจะกำจัดมันออกไปภายในเวลาที่รวดเร็วโดยไม่มีการวางแผนย่อมเป็นเรื่องที่ยากและหนักพอสมควร วันนี้พี่ EDUGEN จะพาน้อง ๆ ไปดูวิธีกำจัดความขี้เกียจทิ้งไปให้ราบคาบด้วยหลักการ PDCA แต่วิธีนี้จะช่วยกำจัดความขี้เกียจได้อย่างไรนั้นไปอ่านกันเลย

PDCA คืออะไร?

PDCA เป็นวงจรที่พัฒนามาจากการคิดค้นโดย Walter Shewhart เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อ E.W.Deming นำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงกระบวนการทำงานของพนักงานโรงงานให้ดีขึ้น เป็นแนวคิดที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนงานเพียงอย่างเดียว แต่แนวคิดนี้จะเน้นให้    การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบโดยมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น หลักการ PDCA ยังสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกงานรวมถึงในชีวิตประจำวันด้วย 

P (Plan) หรือการวางแผนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หลังจากที่เราสำรวจตัวเองและตั้งเป้าหมายได้แล้วว่ามีตรงไหนที่ต้องการจะปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้นำเป้าหมายนั้นมาวางแผนเพื่อกำหนดรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ รวมไปถึงกำหนดระยะเวลาและต้องมีตัววัดผลเพื่อจะทำให้รู้ว่าวิธีการที่เราเลือกใช้นั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น ตื่นไปเรียนสายทุกวัน และตั้งเป้าหมายไว้ว่า “ฉันจะต้องตื่นไปเข้าเรียนให้ทัน 8 โมง” เราก็ต้องวางแผนว่าเช้า กลางวัน เย็น จะใช้เวลาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเท่าไหร่ และตอนกลางคืนจะเข้านอนกี่โมง ตัววัดผลคือเช้าวันต่อมาเราสามารถไปถึงโรงเรียนได้ก่อน 8 โมงนั่นเอง

 

D (Do) การลงมือทำ เป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนการวางแผน เมื่อมีการวางแผนงานแล้วเราต้องลงมือ “ทำทันที” ไม่ผัดวันประกันพรุ่งเพื่อให้แผนที่วางเอาไว้เกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาโดยที่เราอาจจะมีตัวช่วยเป็นแอปพลิเคชันดี ๆ สักอัน หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ก็ได้  ในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยการทำอย่างมีวินัยและต้องรู้จักบริหารเวลาให้ดี เช่น การจัดการตัวเองให้ตื่นไปทันเข้าเรียนตอน 8 โมงเช้า โดยที่เราอาจจะมีตัวช่วยเป็นนาฬิกาปลุกเพื่อให้การลงมือทำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในขณะที่เราลงมือทำถ้ามีเหตุการณ์ที่เหนือการควบคุมเกิดขึ้นเราสามารถปรับเปลี่ยนแผนการได้ทันที 

C (Check) ตรวจสอบและประเมินตนเอง เมื่อเราลงมือทำตามแผนการที่วางเอาไว้ได้สักระยะเวลาหนึ่งแล้ว เราต้องมีการตรวจสอบความคืบหน้า เพื่อเปรียบเทียบผลจากการลงมือทำจริงกับแผนที่วางไว้ว่าเราสามารถทำตามแผนที่กำหนดไว้ได้หรือไม่หรือมีสิ่งใดที่เราลืมทำหรือเปล่า ถ้าผลที่ออกมาเป็นไปตามแผนหรือได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ถือว่าวิธีการที่เราทำอยู่นั้นได้ผล แต่ถ้าผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะเราจะได้แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนแผนให้ดีขึ้นได้

A (Action) การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเมื่อผ่านกระบวนการทั้ง 3 ขั้นตอนมาแล้ว ในขั้นตอนนี้ถ้าผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็ให้เรานำวิธีการนั้นมาปรับใช้จนเป็นนิสัย หรือเป็นมาตรฐานส่วนตัวที่เราจะนำไปใช้กับเป้าหมายอื่นได้ เช่น เราสามารถตื่นเช้าได้ทุกวันแบบสบาย ๆ จนเรียกได้ว่าการตื่นเช้าไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับเราอีกต่อไป 

แต่ในกรณีที่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ให้เราพยายามทำให้มากกว่าเดิม แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองจริง ๆ ให้ลองขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น แต่ถ้าสุดท้ายยังได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีให้เรามองหาวิธีการหรือทางเลือกใหม่ ๆ แล้วลงมือลุยต่อไปได้เลย

วงจร PDCA ที่ดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรานำผลลัพธ์ที่ได้หลังจากขั้นตอนปรับปรุงแผน (Action) วนกลับไปสู่ขั้นตอนการวางแผน (Plan) อีกครั้ง เพื่อดูว่าเราจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายหรือจะลงมือทำต่อทันที และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะหัวใจหลักของ PDCA คือการพัฒนาหรือทำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย และในอนาคตไม่ว่าจะต้องเจอเรื่องยุ่งยากแค่ไหน เราก็จะผ่านไปได้อย่างแน่นอน น้อง ๆ ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะคะ

ให้คะแนนบทความนี้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ