Born to be สัตวแพทย์
เขียนโดย Edugen official
08/11/2019, หมวด: แรงบันดาลใจ

Born to be...

สัตวแพทย์ vs สัตวบาล

“การเลี้ยงสัตว์” จำเป็นต้องมีผู้ดูแลจัดการและบำรุงรักษาประกอบกันไป เพื่อให้สัตว์มีการเจริญเติบโตอย่างถูกต้อง และมีความสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อพูดถึงสัตวแพทย์ คนทั่วไปมักเรียกอาชีพนี้อย่างตรงตัวว่า หมอรักษาสัตว์  ซึ่งน้อง ๆ หลายคนก็คงจะสงสัยว่านอกจากรักษาสัตว์ สัตวแพทย์ยังต้องทำอะไรอีกบ้าง ? วันนี้พี่ EDUGEN มีคำตอบมาให้น้อง ๆ แล้ว ไปดูกันเลย

สัตวแพทย์ vs สัตวบาล

เห็นหัวข้อนี้น้อง ๆ หลายคนอาจจะคิดว่า “อ้าวแล้ว 2 วิชาชีพนี้มันไม่เหมือนกันตรงไหน” เอาเป็นว่าเรามาดูพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าว่า 2 วิชาชีพนี้การทำงานต่างกันอย่างไร

สัตวแพทย์ คือ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาวิชาสัตวแพทย์ มีการศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ การวินิจฉัยโรค การป้องกันและรักษาโรคสัตว์ การป้องกันโรคระบาดและโรคสู่คน การใช้ยาและวัคซีนสำหรับสัตว์ และการอภิบาลสัตว์ป่วย

ดังนั้น สัตวแพทย์ จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจรักษาสัตว์ การป้องกันโรคระบาดสัตว์และโรคสู่คน การกำกับดูแลด้านสุขภาพและสุขาภิบาลสัตว์ ความปลอดภัยด้านอาหารที่มีต้นเหตุหรือต้นกำเนิดมาจากสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบการบังคับให้เป็นไปตามกฏหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานราชการ

สัตวบาล คือ ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาวิชาสัตวบาล สัตวศาสตร์ หรือชื่ออื่นที่มีหลักสูตรเช่นเดียวกัน มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสัตว์ การจัดการ การปรับปรุงบำรุงพันธุ์สัตว์ เทคโนโลยีการขยายพันธุ์สัตว์ การกำเนิด การประกวดสัตว์ การจัดการด้านอาหารสัตว์ โภชนศาสตร์สัตว์ การจัดการผลิตผลและผลิตภัณฑ์สัตว์ รวมถึงการจัดการด้านต่าง ๆ ที่มีผลทำให้สัตว์สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้ได้ผลิตผลดีมีคุณภาพ ปราศจากสารปนเปื้อนและเชื้อโรค มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น สัตวบาล จึงมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปฎิบัติงานในกระบวนการผลิตสัตว์ให้เป็นไปตามหลักวิชาการ สวัสดิภาพสัตว์ สุขศาสตร์และการสุขาภิบาลสัตว์ การดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดการด้านการค้าสัตว์ และผลิตผลจากสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในแนวทางการส่งเสริมและพัฒนา เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกัน

สัตวแพทย์กับสิ่งที่ต้องทำ

ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ใกล้ตัวที่สุดอาจเกิดจากสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้ในบ้าน เช่น โรคเชื้อราแมว โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาการที่เกิดกับคนจะต่างกันไปตามชนิดของโรค หนักสุดคือเสียชีวิต สัตวแพทย์ส่วนหนึ่งทำงานที่คลินิก คอยให้คำปรึกษาเรื่องการดูแล การรักษา และโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในสัตว์เลี้ยง อีกส่วนหนึ่งทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานอื่น ๆ ในการวิเคราะห์หาสาเหตุ ดำเนินการเฝ้าระวัง ตลอดจนควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อย่างโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายจนส่งผลต่อคนในวงกว้าง

ด้านกระบวนการผลิตอาหาร เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต ความปลอดภัยของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงตลอดกระบวนการ ในฟาร์มสัตว์เศรษฐกิจที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น ฟาร์มหมู ฟาร์มสัตว์ปีก ฟาร์มโคนม ฯลฯ จะมีสัตวแพทย์ด้านปศุสัตว์คอยควบคุมการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรค รักษาและให้ยาสัตว์ที่ป่วย รวมไปถึงกำหนดระยะหยุดยา ก่อนนำสัตว์นั้นไปเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตต่อไป นอกจากนั้น ในขั้นตอนการแปรรูป สัตวแพทย์ยังสามารถช่วยเรื่องการตรวจสอบคุณภาพอาหาร และการถนอมอาหารที่มาจากสัตว์ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินเนื้อสัตว์ที่ผลิตจากสัตว์ที่ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง

เส้นทางการเติบโต 

สัตวแพทย์หลายคนอาจจะริ่มต้นจากการเป็นหมอในฝ่ายอายุรกรรมก่อน พอเริ่มมีความชำนาญและมีประสบการณ์ถึงย้ายไปอยู่ในแผนกที่เราถนัดหรือสนใจ และก็อาจจะได้เลื่อนขั้นไปเรื่อยๆ จนถึงตำแหน่งในระดับผู้บริหาร หรือจะเลือกออกมาทำคลินิกของตัวเองก็ได้ถ้ามีความชำนาญกับประสบการณ์ที่มากพอ

ในส่วนของสัตวแพทย์ที่จบปริญญาโทหรือปริญญาเอก ยังสามารถทำงานเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย หรือสอนตามสถาบันต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งทุกอย่างสามารถทำควบคู่ไปกับการทำงานในโรงพยาบาลหรือคลินิกได้ 

นอกจากนี้งานสัตวแพทย์ยังเป็นอาชีพที่สามารถรับราชการได้ โดยเส้นทางเติบโตก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ งานราชการทั่วไปที่ต้องไต่ลำดับขั้นขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อตำแหน่งสูงขึ้น หน้าที่และความรับผิดชอบมากขึ้น อาจจะต้องย้ายหน่วยงานไปอยู่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลยก็ได้ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น้อง ๆ ควรทราบก่อนจะเลือกทางเดินให้กับตัวเอง

สัตวแพทย์บางคนอาจจะเลือกออกมาทำงานส่วนตัวที่ไม่ได้ใช้วิชาชีพสัตวแพทย์ หันมาประกอบอาชีพส่วนตัว หรือไปเรียนต่อทางด้านการแพทย์ก็ได้ ซึ่งการตัดสินใจประกอบอาชีพส่วนตัวขึ้นอยู่กับฐานะ และสภาพแวดล้อม รวมถึงลู่ทางในการประกอบอาชีพด้วย

การเลือกประกอบอาชีพในเส้นทางของสัตวแพทย์ ทุกคนสามารถเลือกหน่วยงาน หรือองค์กรตามที่ต้องการได้ โดยแต่ละหน่วยงานก็มีความต้องการสัตวแพทย์ที่มีความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นควรจะคำนึงถึงความสนใจ ความถนัด หรือความสามารถของตนเองให้ดีก่อน เพื่อที่จะได้ไปทำงานในด้านนั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลตอบแทนในอาชีพสัตวแพทย์

ผลตอบแทนของสัตวแพทย์ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษา หรือประสบการณ์ แต่ถ้าทำงานในโรงพยาบาล คลินิก หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน อาจจะได้รับผลตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ค่าโอที ค่ารักษาพยาบาล หรือเงินช่วยสวัสดิการต่าง ๆ รวมไปถึงโบนัสก้อนโต

การทำงานในอาชีพสัตวแพทย์ อาจจะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ หรือต้องเจอเคสด่วนที่จำเป็นต้องดูแล 24 ชั่วโมง แต่การได้รักษาสัตว์ให้หายป่วย ได้ช่วยให้สัตว์มีชีวิตอยู่ต่อ ถือเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่า และมีคุณค่ามากกว่าเงิน เพราะสัตว์เลี้ยงก็เหมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว การได้เห็นสัตว์เลี้ยงมีชีวิตที่ยืนยาว มีสุขภาพที่ดี สัตวแพทย์ก็รู้สึกมีความสุขตามไปด้วย

ฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนที่มีความฝันอยากเป็นสัตวแพทย์นะคะ พี่ EDUGEN อยากให้ลองถามตัวเองดูอีกครั้งว่าเราพร้อมเจอกับการทำงานที่ไม่เป็นเวลา รวมถึงงานที่อาจจะหนักและเหนื่อยอีกมากมายที่รออยู่หรือยัง ถ้าตอบตัวเองได้แล้วว่าพร้อมจะไปต่อ พี่ก็อยากบอกว่าความฝันที่น้องต้องการมันอยู่ไม่ไกลเลย ถึงแม้ระหว่างทางอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือต้องเจอกับบททดสอบที่ยาก ๆ แต่หากน้องมีความมุ่งมั่น และตั้งใจจริง พี่ว่าน้อง ๆ สามารถทำตามฝันได้อย่างแน่นอน พี่ขอเอาใจช่วยว่าที่สัตวแพทย์ทุกคนเลยนะคะ

ให้คะแนนบทความนี้
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ